ก้าวหน้าในองค์กรด้วย “ทักษะการเรียนรู้” แบบไม่มีที่สิ้นสุด by Mission To The Moon
ก้าวหน้าในองค์กรด้วย “ทักษะการเรียนรู้” แบบไม่มีที่สิ้นสุด
.
ในยุคที่โลกแห่งการทำงานเต็มไปด้วยความผันผวน ทักษะสำคัญอย่าง “การเรียนรู้” กลายมาเป็นสกุลเงินที่เราใช้แลกเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความก้าวหน้า” ในหน้าที่การงาน
.
พนักงานที่มีทักษะการปรับตัว (Adaptive) และรู้จักทำงานเชิงรุก (Proactive) ได้กลายมาเป็นทรัพยากรสำคัญที่เกือบทุกองค์กรต้องการ
.
รีด ฮอฟฟ์แมน ผู้ก่อตั้งบริษัทดังอย่าง LinkedIn เล่าว่า เขามักจะตามหาพนักงานที่มี “Infinite Learning Curve” หรือเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด อธิบายง่ายๆ ก็คือ คนที่ชอบเรียนรู้อยู่ตลอดและเรียนรู้ได้ดี ส่วนสัตยา นาเดลลา CEO ของ Microsoft ก็เคยตอกย้ำความสำคัญของการเรียนรู้ ผ่านการให้สัมภาษณ์ว่า “คนที่พร้อมเรียนรู้ทุกอย่าง” นั้นย่อมดีกว่า “คนที่รู้ดีไปเสียทุกอย่าง” เสมอ
.
ความสามารถในการไม่ยึดติดกับความรู้เดิม (Unlearn) การเรียนรู้สิ่งใหม่ (Learn) และการเรียนสิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ (Relearn) กลายมาเป็น “3 ปัจจัยสำคัญ” ของความสำเร็จในหน้าที่การงานระยะยาว
.
ในบทความเรื่อง Make Learning a Part of Your Daily Routine จากเว็บไซต์ Harvard Business Review ผู้เขียนอย่าง เฮเลน ทัปเปอร์ และ ซาราห์ เอลลิส ได้นำประสบการณ์จากการออกแบบโปรแกรมพัฒนาทักษะให้พนักงานกว่า 50,000 คนทั่วโลก และประสบการณ์การทำงานร่วมกับบริษัทดังอย่าง Uniliver และ Microsoft มาตกตะกอน เป็นเทคนิคพัฒนา “ทักษะการเรียนรู้” ในแบบที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
.
มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
.
#Learn เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
.
จริงๆ แล้วการทำงานในชีวิตประจำวันมีโอกาสมากมายให้เราเรียนรู้ แต่บ่อยครั้งเรามัวแต่รีบทำงานให้เสร็จก่อนเดดไลน์​ จนพลาดโอกาสดีๆ ไป มาทำความรู้จัก 3 วิธีที่จะช่วยให้เราตั้งใจเรียนรู้กันอีกครั้งดีกว่า
.
1) เรียนรู้จากผู้อื่น
คนที่เราใช้เวลาด้วยก็คือแหล่งความรู้ที่ดีอีกแหล่งหนึ่ง ลองหาเวลาสัก 1 ครั้งต่อเดือนในการจัด “Curiosity Coffee” หรือการนั่งคาเฟ่เพื่อพูดคุยกับคนที่เราไม่สนิทหรือไม่รู้จัก โดยอาจเป็นคนจากแผนกอื่นก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้เราได้แง่มุมใหม่ๆ ในการทำงาน และลดโอกาสการตกอยู่ใน Echo Chamber
.
2) ทำการทดลอง
การทดลองช่วยให้เราได้ทดสอบ เรียนรู้ และปรับตัว โดยวิธีการทำการทดลองในที่ทำงานนั้นทำได้หลากหลาย ตั้งแต่ลองทำงานเดิมๆ ด้วยวิธีใหม่ ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการนำเสนอ ไปจนถึงทดสอบประสิทธิภาพของการประชุมแบบเจอกัน vs วิดีโอคอล
.
3) ทุกคนคือคุณครู
แต่ละคนก็เก่งกันคนละอย่าง ลองจัดคลาสเรียนให้แต่ละคนได้เวียนมาสอนสิ่งที่ตนถนัด ให้กับคนที่สนใจ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
.
#Unlearn เลิกยึดติดกับสิ่งเดิมที่เรียนรู้มา
.
เราต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวางวิธีการคิดและความคิดเดิมๆ ที่ ‘ถนัด’ และ ‘คุ้นเคย’ ถึงจะพร้อมต่อการโอบรับสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่คุ้นชิน และก้าวสู่โลกการทำงานแบบใหม่ไปพร้อมๆ กัน
.
1) เรียนรู้จากขั้วตรงข้าม
จะปล่อยวางความรู้เดิมๆ ที่เราเคยเชื่อว่าดีได้อย่างไร? ลองพูดคุยกับคนที่คิดต่างหรือแตกต่างดูสิ (เช่นคนที่ทำงานคนละแผนก คนที่ประสบการณ์น้อยกว่ามาก หรือประสบการณ์มากกว่ามาก) โดยอาจเริ่มโดยการถามพวกเขาว่า “ถ้าเขาเป็นเราจะแก้ปัญหาอย่างไร”
.
2) ถามคำถามเหล่านี้
เมื่อเราทำสิ่งเดิมไปนานๆ เราจะเริ่มตั้งคำถามกับมันน้อยลง เราจึงต้องหมั่นถามคำถามเพื่อท้าทายความเชื่อเดิมๆ และใช้เป็นโอกาสตกตะกอนทางความคิด ดังนั้นลองจับคู่กับเพื่อนร่วมงานสักคน และต่างฝ่ายต่างถามคำถามเหล่านี้ดู
.
– ในปี 2030 คิดว่าอุตสาหกรรมของเราจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ อะไรบ้าง
– หากมีการเริ่มใช้หุ่นยนต์หรือระบบอย่าง Automation เราจะแบ่งงานที่ทำอยู่กับหุ่นยนต์อย่างไร งานไหนเรายังต้องทำเอง และงานไหนสามารถใช้หุ่นยนต์ได้
– จุดแข็งด้านใดของเราที่จะเป็นประโยชน์ หากองค์กรใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว
– ถ้าตื่นมาในวันพรุ่งนี้และงานที่เราเคยทำอยู่หายไป ด้วยทักษะที่มี เราจะย้ายไปทำงานอะไรแทน
– หากเราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ในธุรกิจที่เราทำอยู่ จะเปลี่ยนแปลงอะไร
.
#Relearn เรียนสิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่
.
แม้โลกจะเปลี่ยนไป ความสามารถของเราก็ยังไม่หายไปไหน แต่ที่ต้องเปลี่ยนตามคือ “วิธี” ในการนำความสามารถไปใช้ ดังนั้นเราต้องหมั่นวัดระดับความสามารถเราบ่อยๆ และดูว่าเราต้องปรับอะไรบ้าง เพื่อให้ทำงานได้ดีภายใต้บริบทปัจจุบัน
.
1) ใช้ความสามารถของเราในสถานการณ์ใหม่ๆ
วิธีหนึ่งที่จะทำให้จุดแข็งของเราเหนือระดับยิ่งขึ้น คือ การหาโอกาสลองใช้งานมันในหลายๆ สถานการณ์ ตั้งแต่ในงานหลักที่ทำทุกวัน โปรเจกต์ที่เรามีส่วนร่วม งานเสริมอื่นๆ ไปจนถึงงานอดิเรก
.
ยกตัวอย่างเช่น A ทำงานในตำแหน่งนักการตลาด แต่นอกเหนือจากเวลางาน เขายังใช้ความรู้ทางการตลาดที่มีในการช่วยพัฒนาธุรกิจที่บ้าน
.
2) ขอฟีดแบ็กจากผู้อื่น
เราที่ทำงานเดิมๆ อันคุ้นชินอาจมองไม่เห็นจุดบอดของการทำงาน ลองปรึกษาและขอฟีดแบ็กจากผู้อื่นดู เราอาจพบว่าการเติบโตที่เราคิดว่ามันตันแล้ว จริงๆ แล้วยังมีพื้นที่ให้พัฒนาอีกมากมาย
.
3) เรียนรู้ทักษะล้มแล้วลุก (Resilience)
สิ่งหนึ่งที่แน่นอนในความผันผวนนี้ คือ ความผิดพลาด ไม่ว่าจะเตรียมการมาดีแค่ไหนก็อาจล้มได้ทั้งนั้น แต่แทนที่จะจมอยู่กับความล้มเหลวและสิ่งที่ไม่เวิร์ก ลองหันมามองว่ามีอะไรที่เวิร์กบ้าง หรือ เราจะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร
.
แม้จะมีคนจำนวนมากคาดการณ์ว่า “โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร” งานไหนจะหายไปบ้าง และ ทักษะใดบ้างที่ต้องเรียนรู้ เราก็ไม่มีทางรู้แน่ชัดว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรามาก ในท้ายที่สุดทุกอย่างอาจจะไม่เปลี่ยนไปในทิศทางที่เราคิดก็ได้
.
แต่สิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่วันนี้ คือ พัฒนาทักษะในการเรียนรู้ให้แข็งแรง เพื่อที่จะได้พร้อมรับทุกสถานการณ์ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ทันใจในวันที่ความเปลี่ยนแปลงมาถึงจริงๆ
.
อ้างอิง
Make Learning a Part of Your Daily Routine by Helen Tupper and Sarah Ellis :: https://bit.ly/3cZ2Cxz
.
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รู้จัก “กฎ 3x3x3 แห่งการเรียนรู้” ฝึกทักษะใหม่และพัฒนาตนเองภายใน 3 เดือน :: https://bit.ly/3zSn0ch
“วัยกลางงาน” กับการเริ่มใหม่! ปรับตัวอย่างไรให้ราบรื่น เมื่อย้ายงานในช่วง Mid-Career :: https://bit.ly/3bqoEst
.
เขียนโดย Mission To The Moon
https://www.facebook.com/missiontothemoonofficial/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *