การทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง ยิ่งถ้ามีผู้คนจำนวนมากเกี่ยวข้องแล้ว การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ทรงพลัง ทุกคนเข้าใจนั้นเป็นอาวุธที่สำคัญอย่างมากในการทำงานให้สำเร็จ ในทางกลับกัน การตั้งเป้าหมายลอยๆ ฟังแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือตีความไปคนละอย่างก็มีตัวอย่างให้เห็นเยอะว่าทำให้ต่างคนต่างทำหรือไม่รู้จะทำอะไรยังไง พลังในการขับดันสู่เป้าหมายก็หายไปกว่าครึ่ง พาลจะไม่สำเร็จเอา
การตั้งเป้าหมายที่ดีนั้น ฝรั่งชอบยกตัวอย่างการตั้งเป้าหมายเรื่องการไปดวงจันทร์ของสหรัฐเมื่อต้นทศวรรษ 60 ของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ในตอนนั้นสหรัฐกำลังตามหลังรัสเซียในเรื่องอวกาศ รัสเซียดูเหมือนจะพัฒนานำหน้าสหรัฐไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมาเพราะจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในระบบคอมมิวนิสต์และความเสื่อมถอยในระบอบประชาธิปไตยที่สหรัฐถือหาง ในวันที่ 25 เดือนพฤษภาคม 1961 ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้ตั้งเป้าหมายของชาติไว้ด้วยประโยคอมตะที่ว่า
.
“I believe that this nation should commit itself to achieving the goal, before this decade is out, of landing a man on the moon and returning him safely to the earth”
.
ในการตั้งเป้าหมายนี้ นอกจากจะปลุกเลือกรักชาติที่คนสหรัฐรู้สึกว่าต้องเอาชนะให้ได้แล้ว ยังมีส่วนประกอบที่เป็นการตั้งเป้าหมายที่ดีครบทั้ง 5 ประการที่ทางทฤษฏีเรียกว่า S.M.A.R.T ประการแรกคือ Specific (S) เป็นการตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงจนเข้าใจได้ชัดเจนว่า เราจะ “ land a man of the moon “ ไม่ใช่ไปลงที่ไหนก็ได้และจะต้องกลับมาได้อย่างปลอดภัย ( return him safely to earth) ไม่ใช่ไปแล้วไปลับ ต้องคิดหาวิธีกลับให้ได้ด้วย
.
ประการที่สองคือ Measurable (M) คุณซิกเว่เคยสอนเสมอว่าการตั้งเป้าหมายจะต้องวัดได้ อะไรที่วัดได้จะทำได้ (what get measured , get done) ในการตั้งเป้าหมายของเคนเนดี้ก็ชัดเจนมากว่าจะเหยียบดวงจันทร์แล้วกลับมาอย่างปลอดภัย “ภายในทศวรรษนี้” (before the decade is out) ซึ่งสหรัฐก็ทำได้จริงๆในปีสุดท้ายก่อนสิ้นทศวรรษ
.
ประการที่สามคือ action oriented (A) ทันทีที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติอันสำคัญนี้ เขาทำให้ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรม การอนุมัติงบประมาณมหาศาล การให้ความร่วมมือในเรื่องทรัพยากรบุคคล ฯลฯ ทำให้ทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไร มีเรื่องเล่าถึงแม่บ้านที่ถูพื้นตรงโถง NASA อย่างขยันขันแข็งจนมีคนไปถามว่าทำไมถึงตั้งใจทำขนาดนี้ แม่บ้านคนนั้นตอบว่า ถ้าพื้นลื่นแล้วนักบินอวกาศลื่นล้มหัวฟาดพื้น จะไม่ได้ไปดวงจันทร์กันนะ.. เป็นตัวอย่างที่ดีเวลาคนทุกระดับเข้าใจเป้าหมายและรู้ว่าต้องทำอะไรเป็นอย่างดี
.
ประการที่สี่คือ realistic (R) ประธานาธิบดีสหรัฐรู้ดีว่ามีโอกาสและมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำได้ และคนที่เข้าใจถึงงานก็พอรู้ว่าเป็นไปได้ถึงแม้ว่าจะเป็นเป้าหมายที่ยากมาก หลังจาก speech เคนเนดี้ก็มีแผนขออนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลแต่สหรัฐก็มีเพียงพอกับการรวมนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิด้านต่างๆมาทำงาน การตั้งเป้าหมายนั้นต้องอยู่ในวิสัยที่พอลุ้น กรณีเคนเนดี้ถ้าไปตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้ภายในหนึ่งปี พอฟังแล้วไม่ realistic ดูเป็นไปไม่ได้ก็จะมีผลตรงข้าม ผู้คนจะหมดแรงเมื่อได้ยินเป้าในทันที
.
ประการสุดท้ายคือ Time and resource constrained (T) การตั้งเป้าที่สำคัญอันสุดท้ายก็คือคล้ายๆกับที่หลายคนบอกว่า เส้นตายคือแรงบันดาลใจ เคนเนดี้บอกว่าจะต้องทำได้ภายในสิ้นทศวรรษ ซึ่งก็ทำได้จริงในวันที่ 20 กรกฏาคม 1969 ห้าเดือนก่อนเส้นตาย น่าเสียดายที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบสังหารก่อนที่จะได้เห็นภารกิจที่บรรลุเป้าหมายไป
.
ตอนที่คุณซิกเว่ เบรกเก้ อดีตซีอีโอดีแทค ตั้งเป้าให้ผู้บริหารร้อยกว่าคนที่ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่ได้ออกกำลังมานานแต่ต้องวิ่ง 10 กิโลให้ได้ เป็นกิจกรรมที่สุดโต่งและนอกกรอบมากๆเพื่อสร้างทีมร่วมกันในชื่อโครงการ impossible race (ผมเคยเขียนไว้ในเพจถึงเรื่องนี้อย่างละเอียด ไปค้นอ่านดูได้ครับ)
.
ในตอนนั้นเป็นเดือนกันยายน คุณซิกเว่ตั้งเป้าให้ทุกคนรวมถึงประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนไว้ว่า “ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ อีกสี่เดือนข้างหน้า ผู้บริหารดีแทคจะวิ่ง 10 กิโลเมตรให้ได้ภายใน 90 นาทีและจะมี 80% ของผู้บริหารถึงเส้นชัยได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด”
.
เป้าหมายนี้เป็นตัวอย่างการตั้งเป้าแบบ SMART อย่างครบถ้วน เพราะทั้ง specific (วิ่งไม่ใช่เดินและต้องถึงเส้นชัยเท่านั้น) Measurable ( วิ่ง 10 กิโลภายใน 90 นาที) Action oriented ( ต้องไปซ้อมกันจริงจัง) realistic ( ถ้าซ้อมจริงๆก็พอทำได้ ไม่ใช่ให้วิ่งมาราธอนภายในหนึ่งเดือน ) และ time constrained ( อีกสี่เดือนต้องลงวิ่ง มีวันชัดเจน) ซึ่งพอผู้บริหารในตอนนั้นได้ฟังเป้าหมายก็ทั้งตื่นเต้น ทั้งเครียดเพราะรู้ว่าทำได้ไม่ง่าย ถ้าไม่ทำก็จะอับอายขายหน้าทั้งซีอีโอและสื่อมวลชน แต่ในใจก็ชัดเจนกับเป้าหมายที่ได้ฟัง ทำให้ต้องรีบชวนกันไปซ้อม ค่อยๆเริ่มจากโลแรก ไปสามโล ห้าโล เจ็ดโล
.
ไม่น่าเชื่อว่าวันวิ่งจริงๆจะมีผู้บริหารที่วิ่งได้ตามเป้าหมาย 92 คนจาก 114 คน หรือ 80.7% พอดี ผมเคยถามคุณซิกเว่เรื่องนี้ ซิกเว่ก็บอกว่าถ้าตั้ง 50% ก็จะเข้าเส้นชัย 50% … แล้วก็หัวเราะชอบใจพร้อมกับชี้ให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของ mindset นั่นเอง
.
ลองทบทวนเป้าหมาย ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเดือนนี้หรือเป้าหมายปีหน้าว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนเป็น SMART goal กันหรือยังนะครับ
.
เขียนโดย เพจเขียนไว้ให้เธอ
https://www.facebook.com/profile.php?id=100044623680446