แน่ใจแค่ไหนว่าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา by HR – The Next Gen
ไม่มีงานไหนที่ไม่มีปัญหา มีแค่ปัญหาเล็กปัญหาใหญ่ ปัญหามาก ปัญหาน้อย และก็เหมือนที่หลาย ๆ คนพูดให้เราฟังว่า ถ้างานไม่มีปัญหา เค้าคงไม่จ้างเรามาทำงาน
.
จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน
.
แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้ามานั่งนึกกันดี ๆ ในหนึ่งสัปดาห์ หรือในหนึ่งเดือน เราเจอกันมาคนละกี่ปัญหา และก็เช่นกันที่หลายคนบ่นเสมอว่า หนึ่งในปัญหาที่ไม่ค่อยอยากจะเจอคือปัญหาเรื่องคน หรือปัญหากับคน ไม่ใช่ว่าจัดการไม่ได้นะ แต่ดูเหมือนต้องใช้พลังงานเยอะกว่าจะแก้ปัญหาได้
.
และก็อีกเช่นกัน บางครั้งแก้ปัญหาได้อย่างนึง แต่ก็สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาจากต้นเรื่องต้นเดียวกันนี่แหละ
.
พูดแล้วก็ปวดหัว ไม่รู้ว่าวันนี้จะเจออีกกี่ปัญหา
.
รูปแบบของการแก้ปัญหามีหลายอย่างแน่ ๆ ซึ่งหนึ่งในทักษะคลาสสิกก็คือ Problem Solving หรือทักษะการแก้ปัญหา ยังคงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่เราเองต้องอัพเลเวลเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าอยากจะเก่งขึ้นหรอกนะ แต่ว่าตัวปัญหาเองมันอัพเลเวลไปเร็วกว่าเราอยู่บ่อย ๆ เราเลยจำเป็นต้องตามให้ทันปัญหาที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะวิธีเดิม ๆ ที่เคยได้ผล วันนี้มันอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว
.
บ่อยแค่ไหนที่เราเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหา โดยการชี้ไปที่ตัวคน ไม่ได้หาต้นเหตุของปัญหา แต่หาว่าใครคือคนที่ทำให้เกิดปัญหา หาตัวคนผิดเพื่อที่จะหาคนรับผิดชอบ
.
ผมไม่บอกนะว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ถูก หรือวิธีการที่ผิด บางครั้งบางปัญหา การหาตัวให้เจอว่าใครคือคนผิด ก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหาคนรับผิดชอบ เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดได้เหมือนกัน
.
แต่ไม่น่าจะดีแน่ ๆ ถ้าทุกปัญหา เราจะใช้วิธีการจิ้มหาตัวคนผิด เพราะหลายปัญหาเช่นกันที่ความผิดที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนเพียงคนเดียวจากทั้งกระบวนการการทำงาน
.
สมมติว่า ปัญหาคือการส่งงานช้า แล้วเราจิ้มไปที่ว่า คนสุดท้ายที่ต้องส่งงานคือคนผิดและต้องเป็นคนรับผิดชอบ ปัญหานั้นอาจจะไม่ถูกแก้ไขหรือแก้ไขไม่ได้เลย เพราะคนสุดท้ายไม่ใช่กระบวนการเดียวที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาด
.
เราเองอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดเหล่านั้นก็ได้
.
ถ้าลูกน้องทำงานผิดพลาด เป็นเพราะลูกน้องจริง ๆ หรือหัวหน้าเองก็มีส่วนร่วมในความผิดนั้นด้วย นี่คือสิ่งที่หัวหน้าต้องตระหนักจริง ๆ ก่อนที่ตำหนิ หรือมีบทลงโทษใด ๆ ให้กับข้อผิดพลาดนั้น ๆ
.
หาสาเหตุจริง ๆ ของปัญหานั้นให้เจอ และรับฟังลูกน้องให้ดีก่อนที่จะติดสินอะไร แล้ววนกลับมามองที่ตัวเองด้วยเช่นกันว่า อะไรคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง
.
ลูกน้องทำงานไม่เสร็จ เพราะเราสั่งงานเยอะเกินไปหรือเปล่า สั่งงานกระชั้นเกินไปมั้ย สั่งงานแล้วสอนงานไปด้วยหรือเปล่า หรือเราสั่งงานแล้วไม่เคยติดตามงานเลย จนสุดท้ายไม่มีงานให้ส่ง
.
ถ้าหาต้นเหตุฝั่งของตนเองไม่เจอ แยกได้ 2 เรื่องคือ ลูกน้องผิดจริง ๆ หรืออีกอย่างคือ เราไม่เคยมองเลยว่าเราเป็นฝ่ายที่ผิด ซึ่งถ้าหาจุดผิดไม่เจอ การแก้ปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้น จะเป็นแค่การแก้ปัญหาระยะสั้น อีกไม่นานปัญหาจะกลับมาใหม่ แล้วบ่อยเลยด้วยที่ปัญหาจะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นเช่นเดียวกัน
.
และเช่นกัน เมื่อลูกน้องทำงานผิดพลาด อย่าเอาแต่เข้าข้างตัวเองว่า เป็นเพราะหัวหน้าไม่สอน ไม่ให้เวลา หรือไม่ให้ข้อมูลที่มากพอ ตอบตัวเองแบบเข้าใจตัวเองจริง ๆ จัง ๆ ด้วยว่า ไม่ใช่เป็นเพราะเราวางแผนไม่ดี จัดการตัวเองไม่ได้ หรือเพราะเราที่ไม่กล้าถาม ไม่เข้าใจในสิ่งที่สั่ง พยักหน้าครับ ค่ะ อย่างเดียวจนทำให้หัวหน้าเข้าใจผิดว่าเราทำได้แน่ ๆ
.
เราเองก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบนี้ได้ในอนาคตเช่นกัน ซึ่งนั่นปัญหาใหญ่นะ เพราะเราเองก็จะกลายเป็นคนที่ทำไม่ได้ไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเราเองนี่แหละที่จะขาดเรื่องใหญ่ไปอีกหนึ่งเรื่องในชีวิตการทำงาน
.
นั่นก็คือ ขาดความเป็นมืออาชีพ
.
แล้วถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่บริษัทหรือองค์กรมีแต่การชี้ตัวหาคนผิด จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดีไป และใคร ๆ ในองค์กรก็ทำแบบนั้น นั่นคือหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบไซโล แต่ละคนจะพยายามอย่างมากที่สุด เพื่อไม่ให้ตัวเค้าเองทำงานผิดพลาด โดยไม่สนว่าคนอื่นจะลำบากยังไง ขอเอาตัวรอดไว้ก่อน
อย่าปล่อยให้ทั้งองค์กรและตัวเราไปถึงจุดนั้นนะครับ ถามตัวเองให้แน่ใจว่า เราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ ใช่มั้ย และถ้าไม่ใช่ เราก็คือส่วนหนึ่งที่ต้องลงไปร่วมกันแก้ปัญหาครับ
.
.
เขียนโดย เพจ HR – The Next Gen

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *